โรคตา และ การใช้ยารักษา  
 
โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์ วิสุทธิ์ ตันศิริคงคล
 
     
 

     คำพังเพยที่ว่า “ ดวงตาเป็นหน้าต่างแห่งดวงใจ ” นั้นเป็นคำพังเพยที่ใกล้ความจริงมาก เพราะถ้าเรามาลองคิดดูถ้าหน้าต่างทั้งสองบานนั้นเกิดปิดมืดมิดไป ไฉนเลยเรา
จะมองดูโลกอันโสภาผ่านหน้าต่างนั้นได้ ในห้องนั้นก็จะมีแต่ความมืดมิดสนิท ความหมายของการดำรงชีวิตของผู้คนในห้องนั้นก็จะหมดไป จะเห็นได้ว่า “ ดวงตา ” นั้นอาจจะ
มีความหมายยิ่งกว่า “ ดวงใจ ” เสียด้วยซ้ำไป เพราะถ้าขาด ” ดวงใจ ” ไป ชีวิตก็จะไม่อยู่ในความทุกข์ทรมานเหมือนเช่นขาด “ ดวงตา ” ที่ยังต้องอยู่ในความมืดไปตลอดชีวิต

     การถนอมดวงตาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่งสำหรับมนุษย์ทุกคนไป ถึงแม้คนเราจะพยายามอย่างยิ่งที่จะถนอมดวงตาไว้อย่างสุดชีวิตก็ตาม แต่สักวันก็หนีไม่พ้นที่จะเกิด
โรคทางตาขึ้นได้ ซึ่งอย่างน้อยก็อาจจะเป็นการอักเสบเล็กๆ น้อยๆ หรืออาจะเป็นถึงขั้นร้ายแรงก็ได้ ทั้งนี้เพราะสิ่งแวดล้อม เช่น มลภาวะต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัวเราในเวลานี้ การสาธารณสุขที่ยังไม่เข้าถึงชุมชนอย่างทั่วถึงสมบูรณ์ในขณะนี้ และความเผอเรออุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหรืออุัิบัติเหตุทางตาได้ ซึ่งแน่นอนเมื่อโรคที่ไม่ปรารถนานี้เกิดขึ้นแก่ดวงตาแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องพึ่งการักษาจะโดยการใช้ยาหรือการผ่าตัดก็แล้วแต่กรณี

     ดวงตาของคนเรานั้นประกอบด้วยส่วนที่สำคัญๆ คือ ส่วนที่แสงจากวัตถุที่ตามองอยู่นั้นจะผ่านและเข้ากระทบจอรับภาพให้เกิดความรู้สึกเห็นเป็นภาพในระดังสมองได้
นั้นคือ กระจกตาดำ รูม่านตา แก้วตา น้ำวุ้นลูกตา จำรับภาพ และเส้นประสาทตาแล้วไปสู่สมอง

 

 

 

(ตำแหน่งวางภาพชุดแรก)

 

 

     นอกจากนี้เยื่อบุตาซึ่งเป็นส่วนสีขาวของลูกตา ซึ่งเป็นเยื่อบางๆ และมีเส้นเลือดหล่อเลี้ยงอยู่มากมายเปลือกตาหรือหนังตาซึ่งบุด้วยเยื่อบุตาทางด้านใน และต่อมสร้าง
เมือกไขมันอยู่ภายในเปลือกตาก็เป็นแหล่งที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ทางตาได้ง่าย

โรคต่างๆ ของตา
     
โรคต่างๆ ของตานั้นจะเกิดแก่ทุกส่วนของตาได้ และโรคต่างๆ เหล่านี้เมื่อเกิดแก่ส่วนต่างๆ ของตานั้นจะมีความรุนแรงไม่เท่ากัน บางโรคสร้างความรำคาญ ทำให้เกิด
ความไม่สบายขึ้นที่ตา ทำให้เกิดอาการเคืองตา ตาแดง น้ำตามาก แต่ไม่ทำให้สายตาและดวงตานั้นเสียได้ เราจัดโรคตาเหล่านี้อยู่ในกลุ่ม “ โรคตาที่มีความเสี่ยงต่ำ ”
โรคตาบางโรคจะปวดตาและตาจะแดงมาก หรือกระจกตาดำอาจจะบวม ขุ่นมัว และรูม่านตาจะขยายกว้างโต เราจัดโรคเหล่านี้อยู่ในกลุ่ม “ โรคตาที่มีความเสี่ยงสูง ”

โรคตาต่างๆ ที่สำคัญที่อยู่ในกลุ่มของ “ โรคตาที่มีความเสี่ยงสูง ” ได้แก่
     -
โรคต้อหิน
     - โรคม่านตาอักเสบ
     - โรคจอรับภาพหลุดลอก โรคนี้จะไม่มีอาการปวดตา ตาจะแดงหรือไม่แดงก็ได้ แต่สายตาจะมัวลงมากอย่างกะทันหัน คล้ายมีม่านมาปิดบัง
     - โรคเส้นประสาทตาอักเสบ (อาการจะเหมือนโรคจอรับภาพหลุดลอก)
     - โรคเส้นเลือดจอรับภาพอุดตัน (อาการจะเหมือนโรคจอรับภาพหลุดลอก)
     - โรคกระจกตาดำติดเชื้อหรือเป็นแผล
     - สิ่งแปลกปลอมทะลุเข้าภายในลูกตา
     - สิ่งแปลกปลอมเกาะติดที่เยื่อบุตาหรือกระจกตาดำ
     - โรคผิวของกระจกตาดำหลุดลอก
     - กรดด่างเข้าตา

    โรคที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้เป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาทันทีจากจักษุแพทย์ จะรอช้าไม่ได้ทุกๆ นาที หรือ ชั่วโมงนั้นมีความหมายต่อการรักษาและการปกป้องการสูญเสีย
สายตาและดวงตาเป็นอย่างยิ่ง เพราะโรคเหล่านี้อาจจะเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด หรือการรักษาทางยาที่ถูกต้องโดยเร็ว เพราะถ้าผิดยาแล้วตาอาจจะ
บอดไปได้ในเวลาอันสั้น

โรคตาต่างๆ ที่สำคัญที่อยู่ในกลุ่มของ “ โรคตาที่มีความเสี่ยงต่ำ ” ได้แก่
     -
โรคเยื่อบุตาอักเสบ
     - โรคต้อลม, ต้อเนื้อ
     - โรคตากุ้งยิง
     - โรคต้อกระจก

ยาที่ใช้เฉพาะที่ต่างๆ ที่ใช้สำหรับรักษาโรคตา
     
การรักษาโรคทางตานั้นส่วนมากจะใช้ยาเฉพาะที่ เพราะการให้ยาเฉพาะที่นั้น เป็นการให้การรักษาที่ตานั้นโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านขบวนการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่นระบบ
ดูดซึมในการย่อยอาหาร ระบบการเปลี่ยนแปลงในตับ หรือการขจัดโดยระบบการขับถ่ายที่ไต จึงไม่ให้โทษต่อระบบอื่นๆ ของร่างกาย และการใช้ยานั้นก็ไม่สิ้นเปลืองด้วย

รูปแบบ : ยาที่ใช้ทางตานั้นมี 2 รูปแบบ คือ
     •  ยาหยอด
     •  ยาขี้ผึ้ง

     ยาหยอด นั้นนำมาใช้ได้สะดวก ผู้ป่วยไม่รู้สึกรำคาญ ยาที่ใช้หยอดที่ตานั้นจะถูกดูดซึมเข้าในเนื้อเยื่อของตาภายใน 4-6 นาที ตัวยาที่ละลายดีในไขมันจะถูกดูดซึม
เข้าเนื้อเยื่อได้ดีกว่าตัวยาที่ละลายในน้ำ และในสภาพของน้ำตาที่เป็นด่างจะทำให้ยาตาที่หยอดถูกดูดซึมเข้าเนื้อเยื่อดีกว่าในสภาพน้ำตาที่เป็นกรด และการหยอดยาตา
มากกว่า 1 ชนิดนั้น ควรหยอดในระยะที่ห่างกัน 5 นาที

     คุณสมบัติ : ยาตานั้นปกติเมื่อหยอดเข้าไปแล้วจะไหลออกข้างนอกเป็นจำนวนมากและรวดเร็ว ดังนั้นยาตาควรจะมีคุณสมบัติที่เหมาะสมคือ จะต้องถูกดูดซึม
เข้าเนื้อเยื่อได้ดีและรวดเร็ว และอัตราการไหลออกจากตาช้า และผสมกับน้ำตาได้ดี

     กลุ่มต่างๆ ของยาที่ใช้รักษาโรคตา
      
•  Antibiotics
       •  Antihistamines
       •  Vasoconstrictors
       •  Steroids
       •  Miotic and Mydriatic Drugs
       •  Beta-Blocker

     Antibiotics เช่นเดียวกับโรคภัยไข้เจ็บของระบบอื่นๆ ของร่างกาย โรคทางตาก็เช่นกัน สาเหตุของโรคเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็มีเชื้อเป็นตัวการ ดังนั้น Antibiotics จึงเป็นตัวยาที่ต้องนำมาใช้รักษาโรคตา

     เนื่องจากเชื้อต่างๆ ที่ทำให้ตานั้นเกิดเป็นโรคมีมากมายหลายชนิดด้วยกัน ซึ่งมีทั้ง Gram-positive, Gram-negative bacteria และเชื้อโรคบางชนิดก็ดื้อต่อยาบางชนิด และการดูดซึมเข้าเนื้อเยื่อตาของยาก็แตกต่างกันออกไป ดังนั้นยา Antibiotics ที่ใช้จึงประกอบไปด้วยหลายชนิดคือ

     
Antibiotics ที่นำมาใช้รักษาโรคตาที่ใช้กันมาก ได้แก่

     Chloramphenicol
     
เป็นยาที่ใช้รักษาได้ทั้ง Gram-positive และ Gram-negative bacteria ตัวยานี้ถึงแม้อาจจะทำให้เกิดโรคโลหิตจางได้ถ้าใช้จำนวนมาก แต่ในทางปฏิบัติเมื่อใช้
เป็นยาหยอด ซึ่งเป็นจำนวนน้อยและถ้าไม่ใช้เป็นประจำนาน ก็คงไม่ทำให้เป็นสาเหตุของโรคโลหิตจางได้ ยานี้ใช้รักษาได้ทั้ง Gram-positive และ Gram-negative bacterias(เช่น ยา CHLOR-OPH, Tifomycin )

     NEOMYCIN
     
ใช้ได้ผลดีต่อพวกเชื้อ Gram-positive bacterias โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อ Staphylococci ซึ่งเป็นเชื้อที่พบบ่อยในโรคต่างๆ ของตา โดยเฉพาะของเยื่อบุตา, เปลือกตา และถุงน้ำตา และเชื้อที่ดื้อต่อยาตัวนี้เมื่อเทียบกับยาอื่นๆ ยังมีน้อยมาก ยาตัวนี้อาจทำให้เกิดการแพ้ยาได้แต่น้อยมากคือ มีประมาณ 5% และอาการแพ้ยาจะไม่รุนแรง คือ ตาอาจจะแดง คัน ได้เท่านั้น

     POLYMYCIN B
    
ใช้ได้ผลดีต่อเชื้อพวก Gram-negative bacterias แต่ก็ไม่ใช้ทุกตัวเสมอไป และเชื้อโรคที่รักษาไม่ได้ผลด้วยยาดังกล่าวนี้ จะเป็นเชื้อที่ไม่ค่อยทำให้เกิดโรคทางตาด้วย

     GRAMICIDIN
    
ใช้ได้ผลต่อเชื้อ Gram-negative ซึ่งเมื่อใช้ร่วมกับยา Polymyxin B แล้วจะทำการครอบคลุมการรักษาเชื้อ Gram-negative ได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น ยา POLY-OPH, Neosporin

     จะเห็นได้ว่า ถ้าใช้ Gramicidin นี้ร่วมกับยา Neomycin และ Polymyxin B เป็นยาหยอดตาแล้วก็สามารถครอบคลุมการรักษาโรคตาจากการติดเชื้อได้ทั้ง Gram-positive และ Gram-negative มากมายหลายชนิดด้วยกัน ในยาขวดเดียวกันเช่น ยา POLY-OPH, Neosporin

     GENTAMICIN
    
เป็นยาปฎิชีวนะที่ครอบจักรวาล รักษาได้ทั้ง Gram-positive และ Gram-negative bacterias ซึ่งเฉพาะอย่างยิ่งต่อเชื้อ Pseudomonas aeruginosa และ เชื้อ Staphylococci ซึ่งเชื้อ Pseudomonas aeruginosa นี้เป็นเชื้อที่ร้ายแรงมาก เมื่อเกิดการติดเชื้อนี้ ถ้าไม่รีบรักษาจะทำให้ตาเสียได้ภายใน 2-3 วัน เช่น ยา GENTA-OPH

     TETRACYCLINE
    
เป็นยาที่มีการรักษาทั้ง Gram-positive และ Gram-negative bacterias แต่เนื่องจากโรคส่วนมากจะดื้อต่อยาตัวนี้จึงไม่ค่อยได้นำมาใช้มากนัก คงยังนำมาใช้ใน
การรักษาโรคริดสีดวงตาเป็นส่วนใหญ่ เช่น Terramycine

     SULFONAMIDES
    
เป็นกลุ่มยาที่มีสรรพคุณในการรักษาพวก Gram-positive cocci และมีปฎิกิริยาในการรักษาเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น และมักจะเกิดการดื้อยาได้ง่ายใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ดังนั้นการรักษาโดยการใช้ยาในกลุ่มนี้ควรเปลี่ยนไปใช้ยา Antibiotics กลุ่มอื่นสลับกันไปด้วย ยากลุ่มนี้ได้แก่ Sulfamethizole, Sodium sulfacetamide แต่จาก
ประสบการณ์พบว่าปกติยาในกลุ่มนี้เวลาหยอด Sodium Sulfacetamide ผู้ป่วยหยอดแล้วจะรู้สึกแสบตามากกว่ายาในกลุ่ม Sulfamathizole

     การใช้ยาในกลุ่มนี้ควรจะต้องระมัดระวังสักนิด เพราะในปัจจุบันพบว่ามีผู้แพ้ยา Sulfonamides นี้แล้ว และอาการแพ้ค่อนข้างจะรุนแรงด้วย แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรที่จะ
ใช้ยากับคนไข้ที่แพ้ยาดังกล่าวถึงแม้การแพ้ยาจากยาหยอด จะไม่รุนแรงเหมือนยาเม็ดก็ตาม